
ข้าพเจ้าได้รวบรวมเรื่องราวของพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ด้วยความยากลำบากเพราะประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์ที่ข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าไปล่วงรู้เรื่องของพระองค์ท่านได้จากชีวิตของข้าพเจ้าเอง แต่เหตุการณ์ที่แปลกประหลาดในชีวิตของข้าพเจ้าได้เกิดขึ้น ทำให้ข้าพเจ้าต้องทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของพระองค์ท่าน เนื่องจากมีอยู่วันหนึ่งภรรยาของข้าพเจ้า (นางศิริญญา อยู่เถา) ได้เห็นรูปพระองค์ท่านครั้งแรกก็ปรากฏเรื่องราวที่แปลกประหลาดขึ้น เนื่องจากภรรยาของข้าพเจ้า ได้พูดจาแปลก ๆ ที่ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะแปลเป็นภาษาของมนุษย์ในปัจจุบันได้ ไม่ใช่ภาษาอังกฤษและภาษาไทย แต่เจ้าของภาพของพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ที่เป็นรูปวาดได้บอกกับข้าพเจ้าว่าเคยมีคนมองภาพดังกล่าวแล้วก็พูดในลักษณะเดียวกันมาหลายคนแล้ว แต่ก็ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเนื่องจากไม่สามารถที่จะแปลออกมาเป็นภาษาคนโดยทั่วไปได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภรรยาของข้าพเจ้าข้าพเจ้าก็ตกใจไปพอสมควรเมื่อตั้งสติได้ข้าพเจ้าและเจ้าของรูปภาพ ก็ได้ตั้งคำถามเป็นภาษาไทยออกไปว่าท่านเป็นองค์พระจตุคามรามเทพใช่หรือปล่าว ภรรยาของข้าพเจ้าก็ยังคงพูดเป็นภาษาที่ไม่สามารถจะแปลได้อยู่เหมือนเดิม ข้าพเจ้าก็เฝ้าถามไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งภรรยาของข้าพเจ้าสามารถพูดเป็นภาษาไทยออกมาได้ว่า พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ พยายามสื่อให้ข้าพเจ้าและเจ้าของรูปภาพดังกล่าวได้รับทราบเรื่องบางเรื่อง สักพักภรรยาของข้าพเจ้าก็พูดเป็นภาษาแปลก ๆ ที่ข้าพเจ้าและเจ้าของรูปไม่สามารถเข้าใจได้อีก แต่ครั้งนี้สามารถสงบสติได้เร็วเพื่อสื่อสารกับข้าพเจ้าและเจ้าของรูปเป็นภาษาไทยได้เร็วขึ้น ข้าพเจ้าถามว่าที่บอกว่าท่านเสียใจท่านเสียใจอะไร ภรรยาข้าพเจ้าก็ตอบว่าเสียใจที่คนนำท่านมาทำไม่ถูกต้องที่นำท่านมาเป็นสินค้าซื้อขายกันมากมายทั้งบ้านทั้งเมืองแบบนี้ ภรรยาของข้าพเจ้าบอกว่าท่านดีใจ ข้าพเจ้าก็ถามว่าดีใจเรื่องอะไร ภรรยาของข้าพเจ้าบอกว่าพระองค์ท่านดีใจที่มีคนบูชาพระองค์ท่าน พระองค์จะปกปักษ์รักษาเมืองและผู้คน ข้าพเจ้าถามว่าพระองค์ท่านมีกี่พระองค์กันแน่ เพราะเห็นมีทั้งจตุคามและรามเทพ แต่รูปที่เห็นเป็นรูปวาดที่อยู่ต่อหน้านี้เป็นรูปเพียงพระองค์เดียว ภรรยาของข้าพเจ้าบอกว่ามีอยู่สองพระองค์แต่รูปวาดนั้นซีกหนึ่งเป็นท่านท้าวจตุคามอีกซีกหนึ่งเป็นท้าวรามเทพ ทั้งสองต้องไม่เหมือนกัน แต่พระองค์ท่านทรงใจดีมาก ภรรยาของข้าพเจ้าบอกว่าถ้าข้าพเจ้าอยากจะบูชาท่านก็ให้ไปเอารูปพระองค์ท่านมาบูชาได้เลย
หลังจากเหตุการณ์วันนั้นเกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ก็ได้สืบเสาะหารูปที่เป็นภาพวาดดังกล่าวเพื่อนำมาพิมพ์และใส่กรอบรูปไว้กราบไหว้บูชาพระองค์ท่าน และก็เป็นเหตุที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องทำการศึกษาค้นคว้าตามประสานักศึกษาปริญญาเอกทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างข้าพเจ้าที่พึงกระทำได้ แต่ก็ด้วยความยากลำบากมากเนื่องจากข้าพเจ้าไม่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์มาก่อนเลย ข้าพเจ้านึกถึงอาจารย์ท่านหนึ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะให้ความกระจ่างแก่ข้าพเจ้าได้ในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเคยรู้จักกับท่านมาก่อนหน้านี้ แต่ก็ได้ทราบว่าท่านได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้เองเนื่องจากเป็นลมและเสียชีวิตไปโดยไม่ทราบสาเหตุ บุคคลท่านนี้ก็คือท่านอาจารย์จักรัช ธีระกุล จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชข้าพเจ้าไปศึกษางานของท่านที่กล่าวไว้เกี่ยวกับพระองค์ท่านจตุคามรามเทพ ท่านได้กล่าวไว้เป็นเรื่องเป็นราวทีเดียวสำหรับตำนานของท่านท้าวจตุคามรามเทพ เรื่องราวของท่านท้าวจตุคามรามเทพถ้าดูจากงานเขียนของ อาจารย์จักรัช ธีระกุล ท่านเขียนไว้ว่า
“ตรรกวิทยาของชาวชวากะ ที่เรียกว่า จตุคามศาสตร์ เชื่อกันว่า นางพญาจันทรา นางพญาพื้นเมือง ทะเลใต้ ราชินีผู้สูงศักดิ์ขององค์ราชันราตะ หรือ พระสุริยะเทพ ซึ่งรวบรวมดินแดนในคาบสมุทรทองคำเข้าเป็นจักรวรรดิเดียวกันในพุทธศตวรรษ ที่ 7 พระราชมารดาของเจ้าชายรามเทพ บรรลุธรรม สำเร็จตรรกศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ ทรงอิทธิฤทธิ์บังคับคลื่นลมร้ายให้สงบได้ชาวทะเลทั้งหลายกราบไหว้รำลึกถึง เมื่อออกกลางทะเล เรียกกันว่า แม่ย่านาง ชาวศรีวิชัยให้ความเคารพนับถือเทิดทูน ฉายานามว่า เจ้าแม่อยู่หัว
เจ้าชายรามเทพได้ศึกษาเล่าเรียนวิชา จตุคามศาสตร์ จากพระราชมารดาจนเจนจบ แล้วทรงเรียนรู้หลักสัจธรรมทางพุทธศาสนาเลื่อมใสศรัทธานิกายมหายานอย่างแรงกล้า มุ่งหน้าสร้างบารมี หวังตรัสรู้เป็นพระโพธิสัตว์ ตั้งปณิธานแน่วแน่ที่จะประกาศธรรมให้มั่นคงทั่วดินแดนสุวรรณภูมิ ทรงอุตสาหะบากบั่นสร้างราชนาวีตามตรรกศาสตร์มหายาน ที่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมได้รวดเร็วและปลอดภัยบรรทุก กำลังพลและสัมภาระได้ มากมายมหาศาลเยือนถึงน่านน้ำใด หลักศาสนา ศิลปอารยะธรรมประดิษฐานมั่นคง ณ ดินแดนนั้น จนเหล่าราชครูต่างถวาย นามาภิไธยราชฐานันดร ว่า องค์ ราชันจตุคามรามเทพ
เมื่อพระศรีมหาราชชาวชวากะได้ประกาศสัจธรรมทั่ว สุวรรณทวีปแล้วจึงได้สร้าง มหาสถูป เจดีย์ขึ้นที่หาดทรายแก้วและในปลายพุทธศตวรรษที่ 8
องค์ราชันจตุคามรามเทพทรงมานะพยายามจนบรรลุธรรมจนบรรลุโพธิญาณ จักรวาลพรหมโพธิสัตว์ ประกอบด้วย บุญฤทธิ์ อิทธิฤทธ อภินิหาร สยบฟ้า สยบดินได้ตามปรารถนา วาจาเป็นประกาศิตเหนือมวลชีวิตทั้งหลาย ทรงศักดานุภาพเหมือน ดังพระอาทิตย์และ พระจันทร์ สมญานามตาม ศาสตร์จันทรภาณุ สาปแช่งศัตรูผู้ใดจะถึงกาลวินาศ จนเลื่องลือไปทั่วทวีป ได้รับการถวายนามยกย่องว่า พญาพังพกาฬ การประกาศชัยชนะที่เด็ดขาดเหนือสุวรรณทวีปและหมู่เกาะทะเลใต้นี้เปรียบได้กับมหาราชในชมภูทวีป
ดังนั้น พญาโหราบรมครูช่างชาวชวากะ ได้จำลองรูปมหาบุรุษเป็น อนุสรณ์ ตามอุดมคติศิลปศาสตร์ศรีวิชัย เรียกว่า ร่างแปลงธรรม รูปสมมุติแห่ง เทวราชที่มีตัวตนอยู่จริงในโลกมนุษย์ ทรงเครื่องราชขัติยาภรณ์ สี่กร สองเศียร พรั่งพร้อมด้วยเทพศาสตราวุธ เพื่อปกป้องอาณาจักรและพุทธจักร เพื่อเป็นคติธรรมและศิลปะกรรม ประดิษฐานในทุกหนแห่งในอาณาจักรทะเลใต้ ลูกหลานราชวงศ์ไศเลนทร์ในชั้นหลังได้ถ่ายทอดศิลปะศาสตร์แปลงร่างธรรมเป็น นารายณ์บรรทมสินธุ์บ้าง อวตารปราบอสูรบ้าง ตามค่านิยมของท้องถิ่น” (จักรรัช ธีระกุล, วัตถุมงคลหลักเมือง นครศรี, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช.)
จากการศึกษาของอาจารย์จักรัช ธีระกุล ก็จะเห็นว่าท่านกล่าวถึงองค์จตุคามรามเทพ เป็นเพียงพระองค์เดียว ที่มีที่มาเป็นเรื่องเป็นราวทีเดียวว่าองค์ท้าวจตุคามรามเทพก็คือชื่อในสมัยต่อมาของ เจ้าชายรามเทพ ผู้ที่มีวิชาอาคมแก่กล้า และบรรลุวิชา จตุคามศาสตร์ ซึ่งน่าจะเป็นศาสตร์ดั้งเดิมของคนที่อาศัยอยู่ในทางดินแดนปักษ์ใต้ของไทยเมื่อครั้งสมัยโบราณนั่นเอง เนื่องจากพระมารดาของเจ้าชายรามเทพนั้นเดิมก็เป็นสามัญชนที่ถูกยกย่องว่ามีวิชาที่เก่งกล้า ได้รับการขนานนามว่า นางพญา และพระนางก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชินีของกษัตริย์ราตะแห่งอาณาจักรทะเลใต้ คำที่ได้จากเรื่องที่อาจารย์จักรัช ได้บอกเอาไว้นั้นมีคำที่เกี่ยวข้องกับประวัติของพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพหลายคำเหมือนกันเช่น จันทรภาณุ ซึ่งคำนี้ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่าเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ท่านท้าวจตุคามรามเทพทรงเชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถสาปแช่งศัตรูผู้ใดจะถึงกาลวินาศได้ จนเป็นที่มาของอีกคำหนึ่งจากเหตุดังกล่าวนี้ที่มีคนขนานนาม พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพว่า พญาพังพกาฬ และชื่ออีกชื่อหนึ่งของพระองค์ท่านก็คือ องค์ราชันต์จตุคามรามเทพ
เรื่องที่ท่านอาจารย์ได้เขียนเอาไว้ก็เป็นที่กังขากับข้าพเจ้ามาก เพราะว่าจากกรณีที่ภรรยาข้าพเจ้ากล่าวไว้ก็บอกว่าพระองค์ท่านมีสองพระองค์ และที่ทางขึ้นพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชก็มีสองพระองค์จริง ๆ และมีลักษณะคล้ายกันมาก แต่ถ้าดูตามลักษณะของการนำมาประดิษฐานเอาไว้ตรงทางขึ้นบันใด ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าถ้ามีเพียงพระองค์เดียวก็สามารถทำเป็นสองพระองค์ได้เพื่อนำมาวางไว้ตรงทางขึ้นบันใด เพราะปกติการนำยักษ์หรือทำเป็นรูปปั้นอื่น ๆ บริเวณบันใดทางขึ้นที่ต่าง ๆ ก็มักจะทำเป็นสองรูปสององค์หรือสองตนเหมือนกัน แต่ก็แปลกตรงที่ลักษณะก็ต่างกันด้วย และที่เขียนไว้ก็เขียนไว้ว่า “เท้าขัตตุคาม” และอีกพระองค์หนึ่งก็เป็น “เท้ารามเทพ” ลักษณะของ เท้าขัตตุคามนั้นจะมีลักษณะนั่งแบบตั้งอกตั้งใจ ขึงขังเอาจริงเอาจังกับภารกิจของพระองค์ท่าน จะนั่งยกเข่าขึ้นแต่ขึ้นไม่เต็มที่เหมือนท่าเตรียมพร้อม และขาอีกข้างหนึ่งก็พับไปด้านหลังแบบตรง ๆ เหมือนพร้อมที่จะลุกหรือพร้อมที่จะทำงานได้ตลอดเวลา ส่วนเท้ารามเทพ พระองค์ทรงประทับนั่งอย่างสบายสบายมากกว่า ชันเข่าด้านหนึ่งขึ้นเต็มที่ ขาที่พับอีกด้านหนึ่งก็พับไปทางด้านข้างอย่างเต็มที่มากกว่าท่านเท้าขัตตุคาม เมื่อพิจารณาดูจากกริยาท่าทางของรูปปั้นของทั้งสองพระองค์ก็มีความแตกต่างกันพอสมควร ก็มีความเป็นไปได้ว่ารูปปั้นทั้งสองนั้นเป็นคนละพระองค์กัน
คำที่อาจจะเปลี่ยนมาจากขัตตุคามเป็น จตุคาม คงอธิบายได้อย่างไม่ยากนักเพราะการออกเสียงว่าขัตตุคาม และจตุคาม นั้นคำหลังสามารถที่จะออกเสียงได้ง่ายกว่ากันเยอะ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปคำที่ใช้เรียกก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ไม่น่าจะมีปัญหาใดระหว่างคำว่า ขัตตุคามและคำว่าจตุคาม มีคนกล่าวถึงคำและที่มาของพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ไว้น่าสนใจดังนี้
“คำว่า ขัตตุคาม ตรงนี้มีผู้รู้หลายท่านให้ความเห็นว่า ขัตตุ น่าจะมาจาก ขัตติยะ (กษัตริย์) ซึ่งก็เป็นไปได้ การออกชื่อของคน ว่า ขัด-ตุ-คาม ออกจะไม่ไพเราะ โดนเฉพาะ คนท้องถิ่น ก็เลยหาทางออกเสียงที่ไพเราะมากขึ้น เป็น จะ-ตุ-คาม แต่ก็มีบางความเชื่อที่เขียนเป็น จัตตุคาม เลยก็มี และการออกเสียง จัด-ตุ- คาม ก็ไม่ไพเราะเท่า จะ-ตุ-คาม เพราะ จตุคาม ดูจะออกเสียงได้เข็มแข็งมากกว่าสมกับที่พระองค์ท่านทรงเป็นกษัตริย์
ส่วนที่เรียกกันว่า พระโพธิสัตย์ทะเลใต้ หรือองค์ราชันย์ดำแห่งทะเลใต้ ก็เพราะ ยึดที่ว่า ท่านทรงเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีวิชัย ที่ติดฝั่งทะเลใต้ จึงนำมาเรียกชื่อท่าน บวกกับความเชื่อที่ท่านดำรงสถานะเป็น พระโพธิสัตย์ ( หลังความตาย ) หรือ องค์กษัตริย์ ( ก่อนความตาย ) และคาดว่าท่านเป็นผู้ที่ถือกำเนิดขึ้นในแถบทะเลใต้ จึงน่าจะมี ผิวกายสีเข้ม ก็เลยน่าจะเป็นที่มาของคำว่า ดำ มีความเชื่อหนึ่งว่า ท่านคือ พระเจ้าจันทรภาณุ เป็นราชาที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรศรีวิชัยที่สามารถไปตีเอาอาณาจักรต่าง ๆ รอบ ๆ ทะเลใต้ได้ แต่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สองแหล่ง แหล่งแรก ท่านแรก ( พระเจ้าจันทรภาณุ ) สามารถตีไปที่อินเดียได้ ซึ่งยิ่งใหญ่จริง และไม่กลับมา ไปเป็นมหาราชที่อินเดียเลย ดังนั้นคงยากที่จะเป็นพระองค์นี้ และอีกพระองค์ ยกทัพเรือไปตีศรีลังกาสองครั้ง ครั้งสุดท้ายแพ้และตายที่ศรีลังกา ก็ไม่ยิ่งใหญ่จริง ดังนั้นคงไม่ใช่พระองค์นี้ เลยไม่รู้ว่าพระองค์ไหนในประวัติศาสตร์ แต่ตรงนี้ทำให้สรุปได้ว่า พระเจ้าจันทรภาณุ น่าจะเป็นพระนามที่ใช้เรียก ตำแหน่งกษัตริย์ (บางท่านบอกว่าเป็นตำแหน่งอุปราช ) ดังนั้นจึงมีหลายพระองค์ แต่ไม่รู้ว่าพระองค์ไหนเป็นพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ( หากจะเชื่อว่า พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ คือพระเจ้าจันทรภาณุ )
สายหนึ่งที่เชื่อว่า หลักฐานประวัติศาสตร์ของพระเจ้าจันทรภาณุองค์แรกที่ไปครองอินเดีย ก็บอกว่า ท่านมีลูกสองคน คือ ท้าวจตุคาม ท้าวรามเทพ เมื่อพระเจ้าจันทรภาณุไม่กลับบ้าน ลูกทั้งสองก็ช่วยกันครองเมืองต่อ เมื่อตายไป ชาวเมืองก็ยกให้เป็นเทวดารักษาเมือง ซึ่งสรุปได้ 3 ข้อคือ
๑ พระเจ้าจันทรภาณุ ไม่ใช่ ท้าวจตุคาม ท้าวรามเทพ เป็นพระราชบิดาและบุตร
๒ ท้าวทั้งสอง ( บุตร ) เป็นเทวดารักษาเมือง
๓ ไม่พูดถึงพระโพธิสัตย์เลย
อีกหลายสาย ที่ยกสถานะ พระเจ้าจันทรภาณุ ( ซึ่งไม่ทราบว่า พระองค์ไหน ) เป็น พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ แต่ส่วนมากไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่า มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรกับ พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ก็เลยมีความเชื่อว่าบางครั้ง ให้ท่านดำรงสถานะเป็นพระโพธิสัตย์ ( พระเจ้าจันทรภาณุ ) บางครั้งเป็นเทวดารักษาเมือง ( ท้าวจตุคาม ท้าวรามเทพ ) คือ พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ เป็นทั้ง พระเจ้าจันทรภาณุ ก็ได้ เป็น ท้าวจตุคาม ท้าวรามเทพ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า จะเรียกชื่อไหนขึ้นมา และยังโยงมาอีกชื่อหนึ่งคือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ว่า พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ดำรงตำแหน่งนี้ด้วย เหมือนที่บอกว่า ตอนเป็นอุปราช มีตำแหน่ง พระเจ้าจันทรภาณุ เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ มีตำแหน่งเป็น พระเจ้าศรีธรรมโศกราช สถานะของพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ
แบบที่ ๑ พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ เป็นผู้รักษาพระธาตุ ( หลักเมืองในสมัยโบราณ ) มีหลักฐานคือ รูปปั้น ที่เชิงบันไดพระบรมธาตุ ซึ่งหากเป็นแบบนี้ ท่านจะดำรงสถานะเป็นเทวดารักษาเมืองเหมือนพระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหอกลอง เป็นต้น
แบบที่ ๒ พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ดำรงสถานะเป็นพระโพธิสัตย์ ขณะนี้ ผมยังไม่พบว่ามีหลักฐานแสดงสถานะนี้ หากท่านอื่นมีหลักฐาน ก็นำมาแบ่งปันกันนะครับ แต่เป็นความเชื่อของผู้ที่เคารพสักการะพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ทุกท่านก็ว่าได้
พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ คือ เทวดารักษาพระบรมธาตุ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สถิตอยู่ที่บานประตูทางขึ้นพระบรมธาตุ ในปี พ.ศ. 2530 เมื่อมีการตั้งดวงเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ และสร้างศาลหลักเมืองของจังหวัด จึงมีการทำพิธีอัญเชิญองค์พ่อฯ ไปสถิตที่ศาลหลักเมืองตั้งแต่นั้นมา”
กีฏะ อนุราธ ก็เขียนไว้น่าสนใจทีเดียวถึงเรื่องของการรวมเทพระหว่างพระพรหมกับพระนารายณ์ให้อยู่ในชื่อชื่อเดียวว่า จตุคามรามเทพ ซึ่ง กีฏะ อนุราธ ได้เขียนถึงเรื่องนี้ว่า
“ถ้าหากพิจารณาดูด้านเทวรูปของ “จตุคาม” แล้ว จะเห็นว่าบานประตูด้านนั้นสลักเป็นรูปพระพรหมสี่หน้าอยู่บนบานประตู ส่วนอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นเทวรูปของ “รามเทพ” นั้น บานประตูสลักเป็นรูปพระนารายณ์ เมื่อนำคำเรียกขานของ จตุคาม รามเทพ มาพิจารณาดู ก็พบว่า คำว่า “จตุ” หมายถึง สี่ , “คาม” หมายถึง บ้าน เมื่อรวมคำว่าจตุคาม หรือสี่บ้าน ก็มีความหมายเปรียบได้กับพระพรหมซึ่งมี ๔ หน้า ส่วนคำว่า “รามเทพ” เป็นคำเรียกขานของพระนารายณ์พระนามหนึ่ง ในสมัยที่อวตารลงมาเกิดเป็นพระรามเพื่อต่อสู้กับทศกัณฑ์ จึงมีความหมายถึงพระนารายณ์โดยตรง การนำเทพทั้ง ๒ องค์มาจำหลักอยู่บนบานประตูนี้ จึงเป็นการบอกความนัยถึงองค์เทพที่ถูกอัญเชิญลงมาคุ้มครองรักษาพระบรมธาตุ และเมืองนครฯ ซึ่งผู้คนในยุคสมัยนั้นทราบกันดีว่าเป็นเทพองค์ใด มิฉะนั้นแล้ว ทำไมไม่สลักเป็นเทพหรือเทวดาองค์อื่น ๆ และทำไมไม่สลักให้เหมือนกันทั้งสองบานเช่นเดียวกับรูปปั้นที่ถูกสร้างขึ้นเป็นคู่ ๆ ในลักษณะที่เหมือนกัน สิ่งที่น่าสังเกตอีกเรื่องหนึ่งคือ ผมไม่เคยพบว่าบานประตูตามวัดหรือโบสถ์ในประเทศไทยแห่งใด มีการแกะสลักเป็นเทพทั้งสององค์นี้เลย นอกจากเป็นเทวดาหรือลวดลายอื่น ๆ และก็จะแกะสลักเหมือนกันทั้งสองบานอีกด้วย บริเวณรอบพระบรมธาตุภายในวิหารยังมีรูปปั้นติดฝาผนังเป็นรูปพระพรหมกับพระนารายณ์จับมือของพระพุทธเจ้าอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวาด้วย แสดงถึงความเชื่อของคนในยุคนั้นว่า เทพทั้งสององค์นี้คอยคุ้มครองรักษาและค้ำจุนพระพุทธศาสนาอยู่ตลอดเวลา
ผมขอย้อนกลับไปถึงในสมัยของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยนั้น กษัตริย์ถูกยกย่องเป็นสมมติเทพ คือ พระศิวะ การอัญเชิญเทพที่สำคัญเพื่อลงมาคุ้มครองรักษาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญของอาณาจักรย่อมจะเป็นเทพชั้นสูง และเทพเจ้าที่สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ก็มีเพียง ๓ องค์เท่านั้น คือ พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม พระศิวะก็ถือว่าคือกษัตริย์อยู่แล้ว เทพที่สำคัญรองลงมาก็คือ พระพรหมและพระนารายณ์ จึงไม่น่าแปลกที่จะอัญเชิญเทพทั้งสององค์นี้ ลงมาเพื่อคุ้มครองรักษาบ้านเมืองและพระบรมธาตุ แต่ทำไมคำเรียกขานจึงเป็น จตุคาม รามเทพ ผมสันนิษฐานว่า ในสมัยนั้นก็มีการนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไวษณพนิกายแพร่หลายเข้ามาสู่ชุมชนเมืองตามพรลิงค์ด้วย น่าจะมีการเข้ามาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เมื่อมีการบูชาพระศิวะเป็นใหญ่ฝ่ายหนึ่ง และมีการบูชาพระนารายณ์เป็นใหญ่อีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมไม่พ้นที่จะเกิดการขัดแย้งกันขึ้น ในประเทศอินเดียยังมีลัทธิที่บูชาพระพรหมเป็นใหญ่เหนือเทพองค์อื่นอีกด้วย เมื่อการขัดแย้งมีสูงมากขึ้น จึงเกิดลัทธิใหม่ที่รวบรวมเทพเจ้าทั้ง ๓ องค์เข้าด้วยกันเป็นองค์เดียว แล้วเรียกขานใหม่ว่า “ตรีมูรติ” ในกรณีของลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย ก็ก่อให้เกิดเทพเจ้าองค์ใหม่ขึ้นด้วยเช่นกันคือ “พระหริหระ” ซึ่งเป็นการรวมกันของพระนารายณ์ คือ พระหริ และพระศิวะ คือ พระหระ ในแนวความคิดเดียวกัน “จตุคาม รามเทพ” อาจเป็นคำเรียกขานจากการรวมกันของเทพเจ้าสององค์ คือ พระพรหมและพระนารายณ์ก็ได้ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับ “ตรีมูรติ” และ “พระหริหระ” เพื่อก่อกำเนิดเป็นเทพองค์ใหม่ขึ้น ทำหน้าที่คุ้มครองรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า”
จะเห็นว่าผู้คนมีความเชื่อเกี่ยวกับพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพที่แตกต่างกันไปมากมายเหมือนกัน ซึ่งก็ต่างกับที่อาจารย์จักรัชได้เขียนไว้ที่ข้าพเจ้าหยิบยกมาก่อนหน้านี้มากทีเดียว นอกจากนี้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มีความเชื่อว่า
“ก่อนจะมาเป็นเทวดารักษาพระบรมธาตุนั้น องค์พ่อจตุคามรามเทพเป็นพระมหากษัตริย์ในสมัยศรีวิชัย ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า พระเจ้าจันทรภาณุ และในอีกชาติภพหนึ่งองค์พ่อฯ เป็นกษัตริย์ที่มีนามว่า พญาศรีธรรมโศกราช การที่พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ถูกขนานนามว่า ราชันดำแห่งทะเลใต้ เพราะอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ติดทะเลชวา และพระวรกายของพระองค์มีสีเข้ม
นอกจากจะเป็นกษัตริย์แล้ว ในอีกชาติภพหนึ่งพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ยังเป็นนักรบที่แกร่งกล้าสามารถ รบไม่เคยแพ้ผู้ใด นามว่า พังพกาฬ (พัง-พะ-กาน)
มีความเชื่อว่าพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ทรงบำเพ็ญตน สร้างบารมี เป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่มวลมนุษย์
ส่วนคำว่าสุริยัน จันทรา นั้นเป็นตัวแทนของพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ส่วนดวงตราพญาราหู ดวงตราสองแผ่นดินศรีวิชัย สุวรรณภูมิ และ 12 นักษัตร เป็นรูปแบบของดวงตราอันศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของจตุคามศาสตร์ ซึ่งทรงฤทธิ์ธานุภาพในทุก ๆ ด้าน”
ก็เป็นเรื่องราวที่ถูกเล่าขานกันมามีผู้นำมาปะติดปะต่อกันไปต่าง ๆ นานา ข้าพเจ้ายิ่งค้นคว้าก็ยิ่งได้ทราบในหลาย ๆ ความเชื่อเกี่ยวกับ พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ มากขึ้นแต่เมื่อไปดูคำทีมีอยู่ใน บทสรรเสริญ บูชาเทวสถาน ฉบับ วัดคอหงษ์ หาดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ดังนี้
“องค์พ่อจตุคาม เหนือฟ้าบาดาล เหนือกรุงสองทะเล พ่อองค์สถิตหล้า เจ้ากรุงธรรมโศก รามเทพเกรียงไกร อยู่คู่ฟ้าไทย อมตะนิรันต์กาล จตุนาคา รามเทพเทพไทย บารมีปกเกล้า เหนือฟ้า เหนือดิน สาธุรามา”
จากบทสรรเสริญบูชาเทวสถาน พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ฉบับวัดคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็พบว่าในบทสรรเสริญก็มี แต่เพียงองค์พ่อจตุคามในตอนแรก ว่าทรงเป็นเจ้าแห่งกรุงธรรมโศก ก็น่าจะเป็นเมืองศรีธรรมโศกราช แต่คำว่ารามเทพ ที่อยู่ในบทต่อท้ายหลังนั้นก็น่าจะเป็นชื่อของท่านพระองค์ท่านท้าวจตุคาม ที่บอกว่าพระองค์ท่านเป็นเทพที่มีศิริโสมงดงาม น่าจะเป็นอีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกแทน พระองค์ท่านท้าวจตุคาม ว่าเป็นองค์รามเทพอะไรทำนองนั้นมากกว่า แต่ก็เป็นที่ถกเถียงกันมากว่า พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ จะเป็นพระองค์เดียวหรือสองพระองค์ อีกสองพระองค์ที่ถูกกงล่าวถึงอย่างมากมายในการศึกษาประวัติของ พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ก็คือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และ พระเจ้าจันทรภาณุ ว่าเป็นพระองค์เดียวกันหรือไม่ หรือเป็นราชศักดิ์หรือไม่อย่างไร เพราะจากเนื้อหาทางความเชื่อของผู้คนและประวัติศาสตร์ก็กล่าวกันไปคนละทิศคนละทางพอสมควร แต่มีประวัติศาสตร์ที่จารึกเอาไว้เกี่ยวกับ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และพระเจ้าจันทรภาณุ ซึ่งเป็นตำนานที่เกี่ยวกับประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุไว้ ดังนี้
“ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึงประเพณีนี้ไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ ซึ่งเป็นสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระธาตุเจดีย์อยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบใหญ่ยาวผืนหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องพุทธประวัติ (เรียกว่า ผ้าพระบฏ) ขึ้นที่ชาดหาดปากพนัง ก่อนที่จะถึงวันสมโภชพระบรมธาตุไม่นาน ชาวปากพนังเก็บผ้านั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชรับสั่งให้ซักผ้าพระบฏจะสะอาด แต่ลายเขียนพระพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือน ยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่งจำนวน ๑๐๐ คนจากเมืองหงสาวดี มีผขาวอริยพงษ์เป็นหัวหน้าจะเดินทางไปลังกาเพื่อนำผ้าพระบฏนี้ไปบูชาพระพุทธบาทในลังกา แต่เรือโดนพายุที่ชายฝั่งเมืองนคร มีคนรอดชีวิต ๑๐ คน รวมทั้งหัวหน้า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าผ้าพระบฏนี้ควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์แทน เจ้าของผ้าพระบฏซึ่งรอดชีวิตก็ยินดีและอนุโมทนา แต่นั้นมาการแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครศรีธรรมราชสืบมาจนทุกวันนี้”
ซึ่งถ้าดูจากประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกไว้นี้ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และพระเจ้าจันทรภาณุ ก็เป็นคนละคนกัน และถูกเรียกรวมกันว่าพระเจ้าสามพี่น้องด้วย ความเข้าใจเรื่องของ พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ มีอะไรที่น่าติดตามศึกษาอีกมากมายทีเดียว ความเกี่ยวข้องกันของ พระเจ้าจันทรภาณุ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช และพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ เป็นเรื่องที่ชวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง เมื่อศึกษามาถึงเรื่องราวที่ข้าพเจ้าได้ทราบถึงประวัติของการแห่ผ้าขึ้นธาตุ ข้าพเจ้าก็ต้องขนลุกซู่ เพราะภรรยาของข้าพเจ้าบอกกับข้าพเจ้าหลายครั้งว่า ให้พาภรรยาของข้าพเจ้าซึ่งพูดเป็นภาษาที่ข้าพเจ้าฟังไม่รู้เรื่องแต่ภรรยาของข้าพเจ้าก็พูดออกมาเป็นภาษาไทยว่าให้พาไปที่วัดพระธาตุในวันหนึ่งให้ได้ แล้วข้าพเจ้าก็จะทราบถึงเรื่องราวของ พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่กล้าพาภรรยาของข้าพเจ้าไปทีวัดพระมหาธาตุ เนื่องจากข้าพเจ้ากลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับ ภรรยาของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็เพิ่งมาทราบภายหลังว่าวันดังกล่าวที่ภรรยาของข้าพเจ้าพยายามบอกกับข้าพเจ้าให้พาไปที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตรงกับวันที่มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุพอดี ข้าพเจ้าจึงมีความเชื่ออย่างสนิทใจว่า พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ จะต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างแน่นอน และเกี่ยวข้องกับประเพณีของการแห่ผ้าขึ้นธาตุด้วย แต่ก็เป็นความเชื่อของข้าพเจ้าที่มีเหตุผลทั้งจากประวัติศาสตร์และจากการสื่อของภรรยาข้าพเจ้ากับ พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ซึ่งบรรยายมาเป็นตัวอักษรที่ค่อนข้างลำบากมากทีเดียว สำหรับข้าพเจ้านั้นทุกครั้งที่ข้าพเจ้าอ่านออกเสียงเรื่องราวประวัติพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ ที่ท่านอาจารย์จักรัช ธีระกุล เขียนเอาไว้ ข้าพเจ้ารู้สึกขนลุกและมีความรู้สึกประหลาดอย่างมาก จนไม่สามารถอ่านออกเสียงให้จนจบได้เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงเรื่องราวสั้น ๆ ส่วนเรื่องที่เป็นความเชื่ออื่น ๆ ข้าพเจ้าสามารถอ่านได้โดยไม่มีความรู้สึกประหลาดใด ๆ เกิดขึ้น ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ามีความเชื่อมากขึ้นว่า พระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ มีจริง และเป็นเพียงพระองค์เดียวโดยพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ เคยเป็นเจ้าชายรามเทพมากขึ้นทุกที และยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่นั่นก็เป็นเพียงความรู้สึกของข้าพเจ้าเท่านั้นไม่มีอะไรมายืนยันได้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านท้าวจตุคามรามเทพ คงต้องทำการค้นคว้ากันต่อไป